8 ข้อแนะนำการเลือกเครื่องชงกาแฟสำหรับเปิดร้าน 

หัวข้อนี้เราจะนับเฉพาะเครื่อง commercial และ hi-end นะครับ เครื่อง home use เราจะแยกไว้สำหรับหัวข้อต่อไป (เครื่อง home use คือเครื่องขนาดเล็ก ที่ขายตามห้างฯ)

  1. เครื่องหัวเดียวหรือสองหัว

        สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว คำพูดนี้อาจจะโยงมาใช้ได้กับเครื่องชงกาแฟด้วย  เพราะนอกจากภาพลักษณ์ที่ดูดีน่าเชื่อถือ ยังชงได้เร็วกว่า (ชงสองหัวพร้อมกันไม่ต้องรอ) ถ้าหัวนึงมีปัญหายังมีอีกหัวให้ใช้งาน ราคาขายต่อได้ดีกว่า  ถึงอย่างนั้นเครื่องหัวเดียวก็ใช่จะแย่เสมอไป ถ้าหากคุณมีพื้นที่ในร้านจำกัดหรือใช้กาแฟเป็นเมนูเสริมในร้านเบอเกอรี่หรือร้านอาหาร เครื่องหัวเดียวก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับร้านคุณ อย่าคิดว่าหัวเดียวค่อยๆชงก็ได้เพราะลูกค้ามักจะมาพร้อมกันและไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่รอได้

   2. ราคาแพงกับราคาถูกต่างกันยังไง

        หลักๆเลยคือ วัสดุ งานประกอบ การออกแบบภายนอกและภายใน ทั้งหมดนี้มีผลกับการใช้งานระยะยาว ความสะดวกในการใช้งานและประสิทธิภาพในการชง  ถ้าถามกันตรงๆเลยว่าชงได้อร่อยเหมือนกันไหม ต้องบอกว่าถ้าชงเป็นกาแฟเย็นใส่นมข้นหวานอาจจะแยกได้ยาก แต่ถ้าเป็นเอสเพรสโซ่ชอทจะต่างกันพอสมควร เพราะเครื่องราคาไม่แพงส่วนใหญ่จะเป็นระบบแลกเปลี่ยนความร้อนทำให้น้ำที่ใช้ชงกาแฟร้อนเกินไปจนอาจจะทำให้กาแฟติดขมได้(ทำกาแฟเย็นอาจจะอร่อย) แต่ถ้าทำกาแฟร้อนจะติดขมชัด ส่วนเครื่อง hi-end ส่วนใหญ่จะเป็นระบบแยกหม้อต้มทำให้ความร้อนที่ได้เสถียรกว่า ไม่ร้อนมากเกินไป

    3. สเปคเครื่องขั้นต่ำที่ควรมี

        ก้านชงต้องเป็นแบบ 58 mm เนื่องจากเป็นขนาดสากลที่เครื่องชงส่วนใหญ่ใช้กัน มีอะไหล่และลูกเล่นเยอะ  หาของเปลี่ยนได้ง่าย

        ปั๊มน้ำเป็นแบบโรตารี่ (มอเตอร์ใหญ่ๆแบบปั๊มน้ำในบ้าน) ไม่ควรเป็นปั๊มแบบสั่นขนาดเล็ก เพราะโรตารี่จ่ายแรงดันน้ำได้เสถียรและมีคุณภาพมากว่า

        วัสดุภายในส่วนใหญ่เป็นทองเหลืองหรืออลูมิเนียม ใช้ส่วนของท่อพสาสติกให้น้อยที่สุด

        แรงดันปั๊มถึง 9 บาร์ เราจะใช้แรงดันน้ำประมาณ 9 บาร์เท่านั้น ถ้ามากไปกว่านั้นอาจจะทำให้กาแฟติดขมได้  ถ้าเห็นเครื่องไหนบอกว่าชงได้มากกว่านี้ ให้เข้าใจว่าเราใช้แค่ 9 บาร์ก็เพียงพอแล้ว

        มีวาล์วเดรนน้ำในหม้อต้มให้เปิดระบายน้ำได้เอง สามารถเปิดได้ง่าย ในกรณีต้องการระบายน้ำเก่าที่ค้างนาน เศษตะกอน หรือจะหยุดใช้เครื่องหลายวัน

   4. แต่ละแบรนด์ต่างกันยังไง  

        สำหรับเครื่อง commercial ส่วนใหญ่เป็นระบบแลกเปลี่ยนความร้อนหลายๆ แบรนด์ดีไซน์ภายนอกและภายในใกล้เคียงกันมากอาจจะแตกต่างกันนิดหน่อยเช่น 

       – ขนาดหม้อต้มที่ถ้าใหญ่อุณหภูมิจะนิ่งกว่าเพราะตอนดูดน้ำเย็นเข้าเครื่องตอนชงอุณหภูมิเปลี่ยนน้อยแต่น้ำหนักเครื่องก็อาจจะหนักขึ้น

        – เสียงตอนชงดังมากหรือไม่ เมื่อชงทั้งสองหัวพร้อมกัน

        – การออกแบบภายใน เราสามารถเปิดฝาด้านบนและข้างได้ง่ายหรือไม่ (เผื่อปรับแรงปั๊มและอุณหภูมิ) แผงวงจรมีกล่องปิดหรือไม่ แผงวางอยู่ตรงไหน ใกล้ถาดน้ำทิ้งเกินไปหรือเปล่า (อาจจะโดนน้ำได้) 

        ในส่วนเครื่องชง hi-end จะมีระบบ  แลกเปลี่ยนความร้อน และสองหม้อต้ม หม้อต้มต่อหัว  การออกแบบของแต่ละแบรนด์แต่ละรุ่นจะต่างกันและรสชาติที่ได้ต่างกัน แล้วแต่แนวคิดของแบรนด์นั้นว่าอยากให้รสชาติและการใช้งานเป็นแบบไหน (ซึ่งค่อนข้างยาวผมจะเขียนเป็นอีกบทความนึงครับ)

  5. เครื่องชงมือสองดีไหม

        ตาดีได้ตาร้ายเสีย ถ้าเป็นเครื่องของคนรู้จักอยู่แล้วก็วางใจได้  ถ้าจะเลือกซื้อควรเทียบว่าซื้อปีไหนบำรุงรักษาตลอดไหม ล้างหม้อต้มหรือยัง(ควรล้างก่อนขายต่อ) อยู่ในประกันไหม มีช่างซ่อมเผื่อติดต่อหรือไม่

   6. ซื้อเป็นเซทพร้อมเครื่องบด เครื่องปั่นและอุปกรณ์ต่างๆ

        ซื้อเป็นเซทถูกกว่าแน่นอน หากเป็นเซทที่เราต้องการอยู่แล้วยิ่งดี แต่ควรดูด้วยว่าเครื่องบดที่จับคู่มาขนาดเหมาะกับเครื่องหรือเปล่า ถ้าเครื่องสองหัวเครื่องบดควรเป็นขนาดกลางขึ้นไป (เฟือง 64 mm ขึ้นไป)

   7. ซื้อกับตัวแทนไหนดี

       ก่อนอื่นเทียบราคาทั้งหมดก่อนครับ ถ้าราคาใกล้กันหรือสูงกว่าไม่มากให้เลือกซื้อกับตัวแทนนำเข้าแบรนด์นั้น แต่ถ้าตัวแทนนำเข้าไม่มีสาขาบริการใกล้เคียงอาจจะไม่มีช่างซ่อมแบบเร่งด่วน  ต้องถามเรื่องบริการหลังการขายดีๆ หรือถ้ามีคนสนิทขายและราคาไม่ต่างกันมากซื้อได้ครับจะได้ตามงานหลังการขายได้ง่ายๆ

   8. ถ้าซื้อแล้วมีของเลยไหม

       เรื่องที่หลายคนอาจหลงลืม เพราะเครื่องชงกาแฟไม่ใช่เครื่องซักผ้าที่ซื้อวันนี้พรุ่งนี้ติดตั้งเลย  ถ้ามีของในสต็อกก็ดีไป (ถ้ามีส่วนใหญ่จะไม่ค่อยลดราคา)  ถ้าต้องรอส่วนใหญ่จะ 1-3 เดือนแล้วแต่รอบการส่ง หรืออาจจะนานกว่านั้นหลายเดือน  คุณต้องคุยกับคนขายให้ดีว่าถ้ามาช้ากว่ากำหนดจะแก้ไขอย่างไร  มีเครื่องสำรองให้ใช้ก่อนไหม เครื่องรุ่นไหน ต้องคุยให้เรียบร้อย

สรุปว่าเลือกยังไงดี

    ถ้าอยากได้สั้นๆ สองหัว ปั๊มโรตารี่ เน้นแบรนด์ตลาด คนใช้เยอะ ซ่อมง่าย  ถ้างบระหว่าง 120,000 – 200,000 เลือกระบบแลกเปลี่ยนความร้อน ถ้างบ 250,000 ขึ้นไปเลือกสองหม้อต้ม แบรนด์ในตลาดมีไม่กี่แบรนด์ครับ แนะนำเลือกตามงบและความชอบเลย 

Shopping Cart
Call Now Button